1. การให้ความหมาย
1.1 การสอบสวน
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “สอบสวน” ใน มาตรา 2(11) ไว้
ดังนี้
การสอบสวน หมายความถึง การรวบรวมพยานหลักฐาน
และการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา
เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือการพิสูจน์ความผิด และเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ
1.2 เด็ก และ เยาวชน
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้ให้นิยามของคำว่า “เด็ก” และ “เยาวชน” ไว้ในมาตรา ๔ ดังนี้
“เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์
“เยาวชน” หมายความว่า
บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์
การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด
ในกรณีที่รู้ว่าเกิดเดือนใด แต่ไม่รู้วันเกิดให้นับวันที่ 1 แห่งเดือนนั้น
เป็นวันเกิด
แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใดให้นับอายุบุคคลนั้น
ตั้งแต่วันต้นปีปฏิทิน (วันที่ 1 มกราคม) ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16
2. การสอบสวนคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน
2.1 เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวน
2.1.1
พนักงานสอบสวน
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติให้ความหมายไว้
ดังนี้
มาตรา 2(6) ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า
“พนักงานสอบสวน” หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมาย ให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน
มาตรา 18
ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัด ธนบุรี พนักงานฝ่ายปกครอง
หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และ
ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่า
นายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง
หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่
หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้
สำหรับในจังหวัดพระนคร
และจังหวัดธนบุรี ให้ข้าราชการตำรวจ ซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรี
หรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง
หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหา มีที่อยู่ หรือถูกจับ
ภายในเขตอำนาจ ของตนได้
2.1.2 พนักงานอัยการ
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2(5) ได้ให้ความหมายของคำว่า “พนักงานอัยการ” ไว้ว่า เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล
ทั้งนี้จะเป็นข้าราชการในกรมอัยการหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นก็ได้
2.2 กระบวนการสอบสวนคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน
แบ่งเป็น 3 กระบวนการ ดังนี้
1) กระบวนการสอบสวนชั้นพนักงานสอบสวน
2) กระบวนการสอบสวนชั้นอัยการ
3) กระบวนการสอบสวนชั้นสถานพินิจ

หลังจากการจับกุมเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด
หรืออาจมีการถูกเรียกมา ส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรืออาจมีผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน
จากกรณีต่างๆดังที่กล่าวมานี้ เมื่อเด็กหรือเยาวนปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน
พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องสอบถามเด็กหรือเยาวชนเกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้น อันได้แก่ ชื่อตัว ชื่อสกุล และรายละเอียดเกี่ยวกับบิดา
มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยเป็นต้น แล้วแจ้งข้อกล่าวหาให้บุคคลดังกล่าวทราบ
รวมถึงแจ้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ โดยให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสม
ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชน
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
พ.ศ. 2553 มาตรา 70 และเมื่อสอบถามข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามมาตรา
134 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยอนุโลม ให้แล้วเสร็จภายใน 24
ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนมาถึงสถานที่ทำการของพนักงานสอบสวน
และเมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนปากคำเด็กหรือเยาวชนเสร็จ ต้องส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปยังศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมทันที
เว้นแต่คดีที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าคดีอาจเปรียบเทียบปรับได้
พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจเปรียบเทียบคดีได้โดยไม่ต้องแจ้งการจับกุมและการควบคุมไปสถานพินิจ
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
พ.ศ.2553 มาตรา 72 วรรคท้าย
ในส่วนของการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตาม มาตรา 134
แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น นอกจากจะให้กระทำในสถานที่ที่เหมาะสมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
และไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดลักษณะอันเป็นการประจานเด็กหรือเยาวชนแล้ว
ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้เด็กรับรู้และรับการถ่ายทอดพฤติกรรมที่ไม่ดีจากผู้ใหญ่
มิให้เด็กหรือเยาวชนถูกผู้ใหญ่รังแก และในการสอบสวนของพนักงานสอบสวนนั้น
ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ และมาตรา 134
ตรีกำหนดให้พนักงานอัยการเข้าร่วมการสอบปากคำด้วย ซึ่งในคดีอาญาทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 143 กำหนดให้พนักงานสอบสวนถามปากคำผู้ต้องหาชั้นสอบสวนเสร็จแล้ว จะต้องส่งสำนวนให้พนักงานอัยการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน
หากเห็นว่าพนักงานสอบสวนสอบปากคำไม่ครบถ้วน สามารถส่งไปให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้
และอาจมีการให้พนักงานสอบสวนเข้าร่วมสอบปากคำในคดีที่เด็กตกเป็นผู้ต้องหา
ผู้เสียหาย และพยานพนักงานอัยการสามารถซักถามเพิ่มเติมได้ หรือซักถามจากพนักงานสอบสวนโดยเป็นการสอบถามเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน
โดยเด็กจะได้ไม่ต้องให้การซ้ำ ๆ ซึ่งการที่พนักงานอัยการช่วยในการสอบปากคำเด็ก
จะช่วยให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปเป็นพยานหลักฐานในศาลได้
โดยการสอบสวนนั้นหากเด็กหรือเยาวชนไม่สามารถสื่อสารหรือไม่เข้าใจภาษาไทย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13
พนักงานสอบสวนต้องจัดหาล่ามให้โดยไม่ชักช้า
ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
พ.ศ.2553 มาตรา 75 ที่ให้จัดหาล่าม
หรือจัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความช่วยเหลืออื่นใดให้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
โดนในการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดจะต้องมีที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชนร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง
พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่าเด็กหรือเยาวชนมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของเด็กหรือเยาวชนอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึง อายุ เพศ
และสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดในแต่ละรายร่วมด้วย
การแจ้งข้อหาและการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนดังกล่าวข้างต้น
บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย
สามารถเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนดังกล่าวได้
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
พ.ศ.2553 มาตรา
75
ในกรณีที่พบว่าเด็กซึ่งถูกจับกุมหรือควบคุมนั้นในขณะกระทำความผิดอายุไม่เกินสิบปีบริบูรณ์ให้ดำเนินการต่อไป
ดังนี้
1)
ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่น
ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อสอบสวนเสร็จแล้วให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นว่าเด็กนั้นได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่
หากพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าเด็กกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน
โดยในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนมอบตัวเด็กให้อยู่ในความปกครองดูแลของบิดา
มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลหรือองค์การซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย ในกรณีที่เด็กไม่มีบิดา
มารดาผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การดังกล่าว
ให้ส่งตัวเด็กไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กทราบในโอกาสแรกที่กระทำได้
โดยในการสอบสวนนั้น จะต้องอยู่ระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่เด็กมาถึงสถานที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
2)
ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยว่าเด็กไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าเด็กกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
ให้พนักงานสอบสวนแจ้งบิดามารดา ผู้ปกครองหรือองค์การซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย
หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี ทราบในโอกาสแรกที่กระทำได้แต่ต้องภายในเวลาไม่เกิน
15 วันนับแต่วันที่รับทราบความเห็นของพนักงานอัยการ
3)
หากพนักงานอัยการเห็นว่าเด็กนั้นได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กในโอกาสแรกที่กระทำได้แต่ต้องภายในเวลาไม่เกิน
15 วัน นับแต่วันที่รับทราบความเห็นของพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

เมื่อพนักงานสอบสวนได้สอบสวนเด็กหรือเยาวชนแล้ว ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ
เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้ทันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุมหรือปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน
หากสอบสวนเสร็จไม่ทัน พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อศาล
ซึ่งพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี
ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีก ครั้งละไม่เกิน 15 วัน และต้องไม่เกินสองครั้ง ในกรณีความผิดอาญามีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้
โดยให้จำคุกเกินหกเดือนแต่ไม่เกินห้าปี แต่ในกรณีที่ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินห้าปีนั้น
เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสองครั้งแล้ว
หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีก
ศาลจะอนุญาตตามคำขอนั้นได้ ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็น
และนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล
ในกรณีนี้ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้อีกครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน
แต่ทั้งนี้ไม่เกินสองครั้ง
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
พ.ศ.2553 มาตรา 78
หากเด็กหรือเยาวชนหลบหนีจากการควบคุมในระหว่างสอบสวน
กฎหมายไม่ให้นำเวลาที่หลบหนีมาคำนวณเข้ากับระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อฟ้องข้างต้น
ถ้าพ้นกำหนดเวลาให้ยื่นฟ้องแล้ว พนักงานอัยการไม่ฟ้องคดีต่อ ศาล
พนักงานอัยการจะฟ้องคดีนั้นอีกไม่ได้ เว้นแต่อัยการสูงสุดจะอนุญาตให้ฟ้องได้
ในขณะกระทำผิด เยาวชนมีอายุยังไม่เกิน 18
ปีบริบูรณ์ แม้จะยื่นฟ้องหลังจากที่มีอายุเกิน 18
ปีบริบูรณ์แล้ว พนักงานอัยการก็ต้องยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว

สถานพินิจ เป็นองค์กรที่สำคัญองค์กรหนึ่งในการรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิด
โดยเสนอต่อศาลเยาวชนและครอบครัว อีกทั้งยังมีหน้าที่สำคัญในการควบคุม
ดูแลเด็กและเยาวชนนั้นตั้งแต่เริ่มดำเนินคดี รวมไปถึงหลังจากมีคำพิพากษาให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กแล้ว
องค์กรนี้จะทำหน้าที่อบรมฝึกฝนและดูแลให้การสงเคราะห์เด็กและเยาวชนนั้นจนกว่าจะกลับตัวเป็นคนดี
สถานพินิจเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม
อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
มีผู้บังคับบัญชาหน่วยงาน คือ ผู้อำนวยการสถานพินิจ
เจ้าหน้าที่ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีอาญา คือ พนักงานคุมประพฤติ
ผู้ช่วยพนักงานคุมประพฤติ พนักงานสังคมสงเคราะห์ แพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ครู
ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการสถานพินิจ
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
พ.ศ.2553 กำหนดให้เมื่อผู้อำนวยการสถานพินิจได้รับแจ้งการจับกุมเด็กหรือเยาวชน
หรือได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนแล้ว ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1) สั่งให้พนักงานคุมประพฤติ สืบเสาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในเรื่องอายุ
ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ
ฐานะของเด็กและบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอาศัยอยู่ด้วย ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทั้งปวง
เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนนั้น และสาเหตุแห่งการกระทำผิด
แต่การสืบเสาะนี้ไม่จำเป็นต้องทำทุกคดี ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามกฎหมายให้จำคุกไม่เกินสามปี
หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้อำนวยการสถานพินิจเห็นว่าไม่มีความจำเป็นแก่คดี
จะสั่งงดการสืบเสาะก็ได้ แล้วแจ้งให้พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องทราบ
2) ทำรายงานในคดีที่มีการสืบเสาะข้อเท็จจริง
และแสดงความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุแห่งการกระทำผิดของเด็กหรือเยาวชน จากนั้นส่งรายงาน
และความเห็นนั้นไปยังพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี แต่หากมีการฟ้องร้องเด็กหรือเยาวชนต่อศาล
ให้เสนอรายงาน และความเห็นนั้นต่อศาลพร้อมทั้งความเห็นเกี่ยวกับการลงโทษ หรือการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนด้วย
3)
ในกรณีที่ไม่ได้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนชั่วคราว
ให้เด็กหรือเยาวชนได้รับการปฏิบัติดังนี้
(ก) ทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย
(ข) ให้แพทย์ตรวจร่างกายและถ้าเห็นสมควรให้จิตแพทย์ตรวจจิตใจด้วย
(ค) ถ้าปรากฏว่าเด็กหรือเยาวชนเจ็บป่วย
ซึ่งควรจะได้รับการรักษาพยาบาลก่อนดำเนินคดี
ให้มีอำนาจสั่งให้ได้รับการรักษาพยาบาลในสถานพินิจ
หรือสถานพยาบาลอื่นตามที่เห็นสมควร ใน กรณีเช่นว่านี้ให้แจ้งไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องด้วย
การดำเนินการใน 2 กรณีแรก
มีความสำคัญมากต่อการพิจารณาของศาลในการหาวิธีการที่เหมาะสมกับเด็กหรือเยาวชนเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กหรือเยาวชนนั้นในอนาคต
ส่วนการดำเนินการในข้อ 3
เป็นสิทธิของเด็กหรือเยาวชนที่รัฐควรต้องดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจในระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของรัฐ
หากปรากฏภายหลังว่าเด็กนั้นมีอายุไม่เกิน 10 ปี ในขณะกระทำความผิดและเด็กอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจหรือองค์การอื่นใด
ให้สถานพินิจหรือองค์การดังกล่าวรายงานให้ศาลทราบ
เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวเด็กและดำเนินการต่อไปตามที่กำหนดไว้ในวรรคสองโดยอนุโลม
3. รูปแบบการสอบสวนพยานหรือผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน
18 ปี
เนื่องจากพยานหรือผู้เสียหายที่เป็นเด็กนั้น
ยังมีวุฒิภาวะรวมทั้งประสบการณ์ที่ต่ำกว่าผู้ใหญ่ การสอบสวนเด็กด้วยวิธีปกติ
อาจทำให้ไม่สามารถได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและครบถ้วนจากเด็ก เนื่องจากสาเหตุหลายประการ
เช่น บรรยากาศในการสอบสวนที่ไม่เหมาะสม
ทำให้เด็กตื่นกลัวการสอบสวนจนไม่กล้าให้ข้อเท็จจริง
หรือเด็กไม่เข้าใจคำถามของพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนเองก็ไม่เข้าใจคำตอบของเด็ก
และไม่รู้วิธีการสื่อให้เด็กเข้าใจคำถาม รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้เด็กอาจให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน
ประกอบกับกระบวนการสอบสวนในคดีอาญาที่มุ่งเน้นพิสูจน์ความจริงในคดี
อาจส่งผลกระทบทางจิตใจต่อเด็ก โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับเพศที่เด็กเป็นผู้เสียหาย
ดังนั้น การสอบสวนพยานหรือผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี กฎหมายจึงกำหนด
“แบบ” การสอบสวนไว้เป็นพิเศษ
แตกต่างจากการสอบสวนบุคคลธรรมดา
การสอบสวนในคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชนให้ถืออายุไม่เกิน
18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา (ไม่ใช่เจ้าพนักงานจับกุมแจ้งข้อหา)
ส่วนการที่เด็กหรือเยาวชนกระทำผิดขณะอายุไม่เกิน 18 ปี
แต่วันที่แจ้งข้อหาเด็กมีอายุเกิน 18 ปี การสอบสวนก็ไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 133
ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ซึ่งจะต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ
และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำนั้นด้วย (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 134 ทวิ) ดังนี้
1) การสอบสวนจะต้องดำเนินการโดยแยกกระทำเป็นสัดส่วนในสภาพที่เหมาะสม
ดังนั้น พนักงานสอบสวนจะไปนั่งสอบสวนที่สถานีตำรวจที่มีคนพลุกพล่านเหมือนคดีปกติไม่ได้
ซึ่งทางปฏิบัติแล้วทุกวันนี้จะทำการสอบสวนเด็กที่สำนักงานอัยการประจำจังหวัดนั้นๆ
เพราะพนักงานอัยการที่มีหน้าที่จะต้องเข้าร่วมการสอบสวนด้วย
ไม่ค่อยสะดวกที่จะเดินทางมาร่วมการสอบสวนตามสถานีตำรวจต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล
ประกอบกับเครื่องมือและบรรยากาศในสำนักงานอัยการพร้อมและเหมาะสมกว่าที่สถานีตำรวจ
2) เด็กสามารถร้องขอให้บุคคลที่ตนไว้วางใจ
เข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือถามปากคำด้วย ซึ่งธรรมดามักจะเป็นบิดามารดา หรือผู้ปกครอง
ซึ่งทนายความของผู้เสียหายหรือพยาน หากประสงค์เข้าร่วมการสอบสวนหรือถามปากคำ
ย่อมใช้สิทธิตามมาตรานี้เข้าร่วมฟังการให้ถ้อยคำหรือสอบสวนได้
3) ต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์
เข้าร่วมในการสอบสวนหรือถามปากคำด้วย
ทั้งนี้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ดังกล่าว
จะต้องได้รับการอบรมและขึ้นทะเบียนตาม ระเบียบกระทรวงยุติธรรม
ว่าด้วยการขอและรับขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำหน้าที่นักจิตวิทยา
หรือนักสังคมสงเคราะห์ตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
4) ต้องมีพนักงานอัยการ เข้าร่วมในการสอบสวนหรือถามปากคำ
5)
ต้องมีการบันทึกภาพและเสียงที่สามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้
ทั้งนี้เพื่อป้องกันเหตุกรณี เด็กลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
หรือไม่สามารถติดตามนำเด็กมาเบิกความได้ในชั้นศาลเพราะเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ศาลอาจรับฟังบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวเหมือนการเบิกความในชั้นพิจารณา
และกรณีที่ศาลเห็นสมควรหรือเด็กหรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอโดยมีเหตุผลอันสมควร
ศาลอาจสั่งให้เปิดบันทึกภาพและเสียงดังกล่าว แทนการเบิกความในชั้นศาลของเด็ก
แล้วให้คู่ความถามค้านหรือถามติงเอาอย่างเดียวก็ได้
ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เด็กต้องเบิกความถึงเรื่องอันทำร้ายจิตใจของเด็กอีกเป็นซ้ำสอง
(ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 ตรี)
อนึ่งแบบของการสอบสวนผู้เสียหายหรือพยานเด็กดังกล่าวนำไปใช้กับการสอบสวนผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกิน
18 ปี ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134/2 เพียงแต่การสอบสวนผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี
นั้นจะมีบุคคลอีกคนหนึ่งที่ต้องเข้ามาร่วมในการสอบสวนเพิ่มเติมนอกจากพนักงานอัยการ
นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ และบุคคลที่เด็กร้องขอ ก็คือ “ทนายความของผู้ต้องหา” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา
134/1
ซึ่งหากการสอบสวนเด็กนั้นไม่ทำให้ถูกต้องตามแบบดังกล่าว
ย่อมทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของพยาน ผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหา
ที่เป็นเด็กไม่อาจรับฟังได้ในชั้นศาลเนื่องจากเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา
226 แต่ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด จนทำให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
เพราะจะถือเอาความบกพร่องของพนักงานสอบสวนมาทำให้คดีของผู้เสียหายไปทั้งคดีมิได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น